ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการสกลนคร  จำกัด
ว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สมาชิกและดอกเบี้ยเงินกู้  พ.ศ. 2565

            อาศัยอำนาจตามความในข้อบังคับสหกรณ์  พ.ศ. 2555  ข้อ 79(8)  และข้อ 107(3)            ที่ประชุมที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ   ชุดที่ 42/2565   ครั้งที่ 9/2565   เมื่อวันที่  27  กันยายน  2565  ได้มีมติกำหนดระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการสกลนคร  จำกัด  ว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สมาชิกและดอกเบี้ยเงินกู้ พ.ศ. 2565  ดังต่อไปนี้

หมวด 1
ข้อกำหนดทั่วไป

     ข้อ 1  ระเบียบนี้เรียกว่า  “ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการสกลนคร จำกัด ว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สมาชิกและดอกเบี้ยเงินกู้ พ.ศ.2565”

     ข้อ 2  ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่   1   พฤศจิกายน  2565   เป็นต้นไป

     ข้อ 3  ให้ยกเลิกระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการสกลนคร จำกัด  ว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สมาชิกและดอกเบี้ยเงินกู้  พ.ศ. 2564  ลงวันที่  29  เมษายน  2565  และบรรดาระเบียบ ประกาศ คำสั่ง มติ หรือข้อตกลงอื่นใด ซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ และให้ใช้ระเบียบนี้แทน

     ข้อ 4  ในระเบียบนี้สหกรณ์ให้เงินกู้แก่สมาชิก  3  ประเภท  คือ

  • เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน
  • เงินกู้สามัญ, เงินกู้สามัญเพื่อการศึกษา
  • เงินกู้พิเศษ

ข้อ 5  การจ่ายเงินกู้ให้สมาชิก

     5.1 สหกรณ์จะจ่ายเงินกู้ให้เฉพาะสมาชิกสามัญ และสมาชิกสมทบเท่านั้น

     5.2 กรณีสมาชิกมีภาระผูกพันการกู้เงินในโครงการพัฒนาชีวิตครู ช.พ.ค.หรือ กบข. ให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อ 14 (5)

ข้อ 6  การให้เงินกู้แก่สมาชิกนั้น จะให้ได้เฉพาะกรณีเพื่อการอันจำเป็น หรือมีประโยชน์ตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควร แต่จะให้เงินกู้เพื่อการสุรุ่ยสุร่าย หรือการเก็งกำไรไม่ได้

ข้อ 7  สมาชิกผู้ประสงค์ขอกู้เงิน ต้องเสนอคำขอกู้ต่อสหกรณ์ตามแบบที่กำหนดไว้

     ข้อ 8  การให้เงินกู้ทุกประเภทนั้น ผู้กู้ต้องทำหนังสือกู้และสมาชิกผู้ค้ำประกัน (ถ้ามี) ต้องทำหนังสือค้ำประกันให้ไว้ต่อสหกรณ์ตามแบบที่กำหนดไว้

ข้อ 9  การส่งเงินงวดชำระหนี้เงินกู้ทุกประเภท

(1) ผู้กู้ต้องส่งต่อสหกรณ์นั้นให้ส่งโดยวิธีหักจากเงินได้รายเดือนของผู้กู้  ณ ที่จ่ายและการส่งเงินงวดชำระหนี้เงินกู้ทุกประเภทดอกเบี้ยเงินกู้ รวมทั้งเงินอื่น ๆ ของสมาชิกรวมกันแล้วจะต้องส่งไม่เกินร้อยละ  80  ของเงินได้รายเดือนของสมาชิกนั้น หรือเงินคงเหลือสุทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 หรือเงินคงเหลือไม่น้อยกว่า  3,000  บาท   ให้นำรายได้พิเศษที่แน่นอนของสมาชิกมาคำนวณเป็นรายได้ด้วย โดยเฉลี่ยเป็นรายเดือนต่อปี หรือตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ ให้ถือว่าเงินงวดชำระหนี้แต่ละงวดถึงกำหนดส่งภายในวันสิ้นเดือน นั้น
          (2) การชำระหนี้ ให้สมาชิกชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในอายุไม่เกิน 75 ปี  หรือเหลือมูลหนี้ไม่เกินค่าหุ้นที่มีอยู่ในขณะนั้น

หมวด 2

ประเภทเงินกู้

เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน

     ข้อ 10  การให้เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน  คณะกรรมการดำเนินการอาจมอบอำนาจให้ประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการ  หรือกรรมการเวรประจำวัน หรือผู้จัดการตามที่เห็นสมควร เป็นผู้วินิจฉัยให้เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินแทนคณะกรรมการดำเนินการก็ได้  และให้ผู้ได้รับมอบดังกล่าวนั้น  แถลงรายการเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินที่ให้ไปและส่งคืน  เพื่อให้คณะกรรมการดำเนินการ ทราบทุกเดือน

     ข้อ 11  เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินที่ให้แก่สมาชิกผู้กู้คนหนึ่งๆ  จะต้องไม่เกิน  300,000  บาท          (สามแสนบาทถ้วน) โดยใช้หลักเกณฑ์ ดังนี้

           (1)  สมาชิกผู้กู้ไม่ต้องใช้ผู้ค้ำประกันในกรณี ดังนี้

                –  เงินกู้ไม่เกิน  60,000  บาท 

                –  เงินกู้ไม่เกินห้าเท่าของหุ้น

                –  เงินกู้ไม่เกินห้าเท่าแห่งเงินได้รายเดือน

                –  ทั้งนี้สหกรณ์จะพิจารณาในจำนวนเงินที่น้อยที่สุดในลำดับข้างต้น

           (2)  สมาชิกผู้กู้จะต้องใช้ผู้ค้ำประกัน  1  คน 

–  เงินกู้เกิน 60,000 บาท ยกเว้นเงินกู้ไม่เกิน 1 เท่าของจำนวนทุนเรือนหุ้น

–  สมาชิกผู้ถูกอายัดเงินค่าหุ้น

–  ไม่อยู่ในเงื่อนไข (1) 

                (3)  สมาชิกผู้กู้จะกู้เกิน  100,000  บาท  ในกรณี

                –  มีทุนเรือนหุ้นไม่น้อยกว่า  200,000  บาท

                –  เงินกู้ไม่เกิน  10  เท่า  แห่งเงินได้รายเดือน

           (4)  สมาชิกผู้กู้จะกู้เกิน  150,000  บาท  ในกรณีดังนี้

                –  มีทุนเรือนหุ้นไม่น้อยกว่า  250,000  บาท

                –  เงินกู้ไม่เกิน  15  เท่าแห่งเงินได้รายเดือน

           (5)  สมาชิกผู้กู้จะกู้เกิน  200,000  บาท  ในกรณีดังนี้
                –  มีทุนเรือนหุ้นไม่น้อยกว่า  300,000  บาท
                –  เงินกู้ไม่เกิน  15  เท่าแห่งเงินได้รายเดือน
           (6)  สมาชิกผู้กู้จะกู้เกิน 250,000  บาท  ในกรณีดังนี้
                      – มีทุนเรือนหุ้นไม่น้อยกว่า 350,000  บาท
                      – กู้ไม่เกิน  20 เท่าแห่งเงินได้รายเดือน
                      – ทั้งนี้สหกรณ์จะพิจารณาในจำนวนเงินที่น้อยที่สุดในลำดับข้างต้น

      ข้อ 12  การส่งเงินงวดชำระหนี้สำหรับเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน ให้ผู้กู้ส่งคืนเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินเต็มจำนวน  พร้อมด้วยดอกเบี้ยภายในวันสิ้นเดือนที่คิดดอกเบี้ยเดือนแรก หรือให้ส่งเป็นงวดรายเดือนรวมกันสิบสองงวด (12 งวด) โดยงวดที่ 1 – 6  ให้ส่งเงินต้นไม่น้อยกว่า  2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยภายในวันสิ้นเดือนที่คิดดอกเบี้ยเดือนแรก  ส่วนต้นเงินที่เหลือพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้ส่งภายในวันสิ้นเดือนถัดไปจนครบกำหนด ทั้งนี้  โดยไม่มีการผ่อนเวลาแต่อย่างไรในกรณีที่สมาชิกนั้น ยังมีเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินครั้งก่อนเหลืออยู่ เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินครั้งใหม่และครั้งก่อนรวมกันจะมีจำนวนเงินต้นเกินกว่าจำกัดที่กล่าวในวรรคแรกไม่ได้

     เงินกู้สามัญ

ข้อ 13  การให้เงินกู้สามัญ  ให้คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยให้เงินกู้สามัญแก่สมาชิก คณะกรรมการดำเนินการอาจแต่งตั้งคณะกรรมการเงินกู้ขึ้นตามความในข้อบังคับสหกรณ์ ข้อ 83  และมอบอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยให้เงินกู้สามัญแก่สมาชิกก็ได้

ข้อ 14  จำนวนเงินกู้สามัญที่ให้แก่สมาชิกผู้กู้คนหนึ่ง ๆ  นั้น ย่อมสุดแต่คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาเห็นสมควร  แต่ต้องอยู่ภายในจำกัดไม่เกิน  1,500,000  บาท(หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน) หรือจำนวนเงินได้รายเดือนรวม 40 เดือนของสมาชิกนั้นสุดแต่จำนวนไหนจะน้อยกว่า

ในกรณีที่สมาชิกกู้เงินสามัญ โดยมีหุ้นเป็นประกันให้กู้ได้ภายในจำกัด ไม่เกินร้อยละ 90 ของเงินค่าหุ้นทั้งหมดที่เป็นประกัน    

(1)  ระยะเวลาการเป็นสมาชิก  6  เดือน  ขึ้นไป
                      1.1 สะสมหุ้นไม่ต่ำกว่า 6,000 บาท และมีเงินได้รายเดือนๆ ละไม่น้อยกว่า 8,000 บาท  กู้ได้ในวงเงินไม่เกิน  80,000 บาท (แปดหมื่นบาทถ้วน)  

     1.2 สะสมหุ้นไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท และมีเงินได้รายเดือนๆ ละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท  กู้ได้ในวงเงินไม่เกิน  120,000 บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นบาทถ้วน)  

  1.3  สะสมหุ้นไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท และมีเงินได้รายเดือนๆ ละไม่น้อยกว่า 12,000  บาท  กู้ได้ในวงเงินไม่เกิน  150,000  บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)

(2)  ระยะเวลาการเป็นสมาชิก 1  ปี ขึ้นไป
                2.1 สะสมหุ้นไม่ต่ำกว่า 40,000  บาท  และมีเงินได้รายเดือนๆ ละไม่น้อยกว่า 13,000  บาท  กู้ได้ในวงเงินไม่เกิน  200,000  บาท (สองแสนบาทถ้วน)

  2.2 สะสมหุ้นไม่ต่ำกว่า 80,000  บาท  และมีเงินได้รายเดือนๆ ละไม่น้อยกว่า 13,000  บาท  กู้ได้ในวงเงินไม่เกิน  250,000  บาท (สองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)

  2.3 สะสมหุ้นไม่ต่ำกว่า  100,000  บาท  และมีเงินได้รายเดือนๆ ละไม่น้อยกว่า 15,000  บาท  กู้ได้ในวงเงินไม่เกิน  300,000  บาท (สามแสนบาทถ้วน)

           (3)  ระยะเวลาการเป็นสมาชิก  2  ปีขึ้นไป

    3.1 สะสมหุ้นไม่ต่ำกว่า 150,000  บาท  และมีเงินได้รายเดือนๆ ละไม่น้อยกว่า 15,000  บาท  กู้ได้ในวงเงินไม่เกิน  400,000  บาท (สี่แสนบาทถ้วน)

  3.2 สะสมหุ้นไม่ต่ำกว่า  200,000  บาท  และมีเงินได้รายเดือนๆ ละไม่น้อยกว่า 18,000  บาท  กู้ได้ในวงเงินไม่เกิน  600,000  บาท (หกแสนบาทถ้วน)

  3.3 สะสมหุ้นไม่ต่ำกว่า   220,000  บาท  และมีเงินได้รายเดือนๆ ละไม่น้อยกว่า  20,000  บาท  กู้ได้ในวงเงินไม่เกิน  800,000  บาท (แปดแสนบาทถ้วน)
                3.4  สะสมหุ้นไม่ต่ำกว่า   250,000  บาท  และมีเงินได้รายเดือนๆ ละไม่น้อยกว่า  25,000  บาท  กู้ได้ในวงเงินไม่เกิน  1,000,000  บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน)
                (4)  ระยะเวลาการเป็นสมาชิก  3  ปีขึ้นไป

    4.1 สะสมหุ้นไม่ต่ำกว่า  300,000  บาท  และมีเงินได้รายเดือนๆ ละไม่น้อยกว่า 30,000  บาท  กู้ได้ในวงเงินไม่เกิน  1,200,000  บาท (หนึ่งล้านสองแสนบาทถ้วน)

  4.2 สะสมหุ้นไม่ต่ำกว่า  300,000  บาท  และมีเงินได้รายเดือนๆ ละไม่น้อยกว่า 40,000  บาท  กู้ได้ในวงเงินไม่เกิน  1,500,000  บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน)    

           (5)  กรณีสมาชิกที่เกษียณอายุราชการที่ไม่เข้าเงื่อนไขข้อใดๆ คณะกรรมการจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป

     ข้อ 15  ถ้าคณะกรรมการดำเนินการ  เห็นสมควรจะให้เงินกู้สามัญแก่สมาชิกที่ยังส่งคืนเงินกู้สามัญรายก่อนไม่เสร็จก็ได้  แต่จำนวนเงินกู้สามัญรวมทุกรายการของสมาชิกผู้กู้คนหนึ่งๆ ในเวลาใดเวลาหนึ่งจะมีจำนวนต้นเงินเกินกว่าจำกัดที่กล่าวใน ข้อ  14  ไม่ได้(ยกเว้นเงินกู้ฉุกเฉินและเงินกู้สามัญเพื่อการศึกษา)

     ข้อ 16  ในการให้เงินกู้สามัญนั้น ๆ  ถ้าปรากฏว่าสหกรณ์  มีเงินทุนที่จะให้กู้ได้ไม่พอแก่การขอกู้อันมีลักษณะพึงให้กู้นั้น  ทุกรายให้ถือลำดับในการพิจารณาให้เงินกู้นั้น  ดังต่อไปนี้

(1) เงินกู้ซึ่งถือค่าหุ้นเป็นหลักประกันพึงให้ในลำดับก่อนเงินกู้ซึ่งมีหลักประกันอย่างอื่น

(2) ในระหว่างเงินกู้ซึ่งอยู่ในลำดับเดียวกันตามที่กล่าวในข้อ (1) เงินกู้ซึ่งมีจำนวนน้อยพึงให้ก่อนเงินกู้ซึ่งมีจำนวนมาก เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ จำนวนเงินกู้ซึ่งนำมาเทียบกันนั้น ให้       คิดรวมทั้งเงินกู้สามัญ และเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน รายก่อนของผู้กู้ที่คงเหลืออยู่(ถ้ามี) ด้วย

(3) กรณีที่สมาชิกขอกู้ หรือได้รับการอนุมัติเงินกู้ไม่เต็มตามสิทธิ์กรรมการอาจพิจารณาให้กู้ได้ในเดือนถัดไปตามสิทธิ์

ทั้งนี้ เว้นแต่ในกรณีที่คณะกรรมการดำเนินการ  หรือคณะกรรมการเงินกู้เห็นว่ามีเหตุผลวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นก็ได้

เงินกู้เพื่อการศึกษา

     ข้อ 17  การให้เงินกู้เพื่อการศึกษา ให้คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยให้เงินกู้เพื่อการศึกษาแก่สมาชิก

     คณะกรรมการดำเนินการอาจแต่งตั้งคณะกรรมการเงินกู้ขึ้นมาตามความในข้อบังคับของสหกรณ์  ข้อ 79 (2) และ ข้อ 83  และมอบอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยให้เงินกู้เพื่อการศึกษาแก่สมาชิกก็ได้

     ข้อ 18  จำนวนเงินกู้เพื่อการศึกษา  ที่ให้แก่สมาชิกผู้กู้คนหนึ่ง ๆ นั้น ย่อมสุดแต่คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาเห็นสมควร แต่ต้องอยู่ภายในจำกัดไม่เกิน  250,000  บาท     (สองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)

     ข้อ 19  คำขอกู้เงินกู้เพื่อการศึกษาที่ให้แก่สมาชิกนั้น ต้องเสนอโดยผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบของผู้บังคับบัญชาก่อน โดยมีสมาชิกค้ำประกัน  1  คน 

     ข้อ 20  สมาชิกที่มีสิทธิกู้ ต้องเป็นผู้ที่ ไม่ผิดนัดการส่งชำระหนี้ ไม่ว่าต้นเงิน หรือดอกเบี้ย  เป็นเวลาไม่น้อยกว่า  20  งวด(เดือน) ติดต่อกัน

     ข้อ 21  วัตถุประสงค์แห่งการกู้

(1)  เพื่อเป็นค่าลงทะเบียนในการศึกษาต่อ ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และระดับปริญญาเอก

(2)  เพื่อซื้ออุปกรณ์ประกอบการศึกษา ได้แก่คอมพิวเตอร์,ปริ้นเตอร์  กล้องดิจิตอล โน๊ตบุ๊ค  ไอแพด และโทรศัพท์ 

(3)  เพื่อเป็นค่าศึกษาดูงานต่างประเทศ  ในระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่

ข้อ 22  การส่งคืนเงินกู้เพื่อการศึกษา

      (1)  การส่งคืนปีแรกให้ส่งคืนเงินต้นขั้นต่ำไม่น้อยกว่า  1,000  บาท

(2)  การส่งชำระหนี้แห่งเงินกู้นี้ไม่เกิน  36  งวด  นับรวม  ข้อ 22 (1)

เงินกู้พิเศษ

ข้อ 23  การให้เงินกู้พิเศษให้คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจวินิจฉัยให้เงินกู้พิเศษแก่สมาชิก  คณะกรรมการดำเนินการอาจแต่งตั้งคณะกรรมการเงินกู้ขึ้นตามความในข้อบังคับของสหกรณ์  ข้อ 83  และมอบอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยให้เงินกู้พิเศษแก่สมาชิกก็ได้

     ข้อ 24  คำขอกู้เงินกู้พิเศษที่ให้แก่สมาชิกนั้น ต้องเสนอโดยผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบของผู้บังคับบัญชาก่อน

     ข้อ 25  จำนวนเงินกู้พิเศษที่ให้แก่สมาชิกผู้กู้คนหนึ่งๆ นั้น ย่อมสุดแต่คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาเห็นสมควร

สมาชิกซึ่งอาจได้รับเงินกู้พิเศษ ดังนี้

ก.  ไม่เกิน  1,500,000 บาท(หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน) ต้องเป็นสมาชิกในสหกรณ์ติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า  2  ปี และถือหุ้นไม่น้อยกว่า  250,000 บาท(สองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
     ข.  ไม่เกิน  3,000,000 บาท(สามล้านบาทถ้วน) ต้องเป็นสมาชิกในสหกรณ์ติดต่อกันมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า  3  ปีขึ้นไป และถือหุ้นไม่น้อยกว่า  500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) หรือไม่เกิน 6 เท่าของจำนวนหุ้น

ค.โดยมีอสังหาริมทรัพย์อันปลอดจากภาระจำนองรายอื่นจำนองเป็นประกันเต็มจำนวนเงินกู้รายนั้นเต็มจำนวนของราคาประเมินจากหน่วยงานราชการ

ง.  การให้เงินกู้พิเศษแก่สมาชิกที่ขอกู้จะไม่นำเงินกู้ฉุกเฉินและเงินกู้สามัญเพื่อการศึกษามาคำนวณด้วย

ข้อ 26  สมาชิกผู้ส่งคืนเงินกู้ประเภทสามัญหรือพิเศษไม่เสร็จสิ้นเมื่อได้รับอนุมัติเงินกู้พิเศษสัญญาใหม่ให้สหกรณ์หักชำระหนี้ในสัญญาเดิมเสียก่อน

ข้อ 27  เงินกู้ซึ่งจะถือเป็นเงินกู้พิเศษและใช้ระยะเวลาส่งคืน ตามที่กำหนดไว้สำหรับ เงินกู้พิเศษได้นั้น  จะต้องมีอสังหาริมทรัพย์เป็นประกัน

     ข้อ 28  การให้เงินกู้พิเศษนั้นต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการดำเนินการผู้เข้าประชุมพิจารณาคำขอกู้รายนั้น

ข้อ 29  เมื่อคณะกรรมการดำเนินการได้วินิจฉัยให้เงินกู้พิเศษทั้งหนังสือกู้และเอกสาร   ทางกฎหมายอย่างอื่น ๆ  เกี่ยวกับเงินกู้นั้นได้จัดทำตามแบบที่กำหนดไว้โดยครบถ้วนสมบูรณ์แล้วสมาชิกผู้กู้จึงรับเงินกู้จากสหกรณ์ได้ 

     สมาชิกที่ได้รับเงินกู้ประเภทพิเศษ  ประสงค์จะขอหนังสือรับรองเพื่อนำไปลดหย่อนภาษี   ต้องเป็นการกู้เพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัยเท่านั้น

     ข้อ 30  ในเมื่อถึงกำหนดที่สมาชิกผู้กู้ต้องใช้จ่ายเงินกู้พิเศษตามความมุ่งหมาย ต้องเสนอรายงานการใช้จ่ายเงินกู้ ตามแบบที่กำหนดไว้พร้อมหลักฐานที่มีต่อสหกรณ์ทุกคราว โดยเร็วที่จะ

กระทำได้ สหกรณ์อาจมอบให้กรรมการดำเนินการหรือบุคคลอื่นตามที่เห็นสมควรสอบสวนการใช้จ่ายเงินกู้ตามรายงานนั้น ๆ อีกชั้นหนึ่งด้วย

     ข้อ 31  ตราบใดที่สมาชิกยังส่งคืนเงินกู้พิเศษไม่เสร็จตนจะต้องยินยอมและอำนวยความสะดวกให้กรรมการดำเนินการหรือบุคคลอื่นซึ่งได้รับมอบหมายจากสหกรณ์  เข้าตรวจการก่อสร้างต่อเติม  หรือปรับปรุงทรัพย์สิน  หรือการประกอบอาชีพ  ที่ใช้เงินทุนนั้นในเวลาอันสมควรได้เสมอ  และต้องชี้แจงข้อความเกี่ยวกับเรื่องที่ตรวจให้ทราบตามความประสงค์

หมวด 3

ดอกเบี้ยเงินกู้

     ข้อ 32  ให้เรียกดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทในอัตราไม่เกินร้อยละ 8 ต่อปี โดยประกาศให้ทราบเป็นคราวๆ ไป

     ข้อ 33  ดอกเบี้ยนั้น ให้คิดเป็นรายวันตามจำนวนต้นเงินคงเหลือ ณ วันสิ้นงวดโดยเริ่มคิดตั้งแต่วันจ่ายเงินกู้หรือวันถัดจากวันชำระดอกเบี้ยครั้งหลังสุดจนถึงวันสิ้นงวดแล้วแต่กรณี  กรณีส่งคืนเงินกู้ก่อนวันสิ้นงวดให้คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันชำระดอกเบี้ยครั้งหลังสุดถึงก่อนการส่งคืนเงินกู้ 

หมวด  4

การควบคุมหลักประกันและการเรียกคืนเงินกู้

     ข้อ 34  ให้คณะกรรมการดำเนินการ  ตรวจควบคุมให้เงินกู้ทุกรายมีหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้และเมื่อคณะกรรมการดำเนินการเห็นว่าหลักประกันสำหรับเงินกู้รายใดเกิดบกพร่องผู้กู้จะต้องจัดการแก้ไขภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด

ข้อ 35  ในกรณีใดๆ  ดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเงินกู้ไม่ว่าประการใดเป็นอันถึงกำหนดส่งคืนโดยสิ้นเชิงพร้อมทั้งดอกเบี้ยในทันทีโดยมิพักคำนึงถึงกำหนดเวลาที่ให้ไว้ และให้คณะกรรมการดำเนินการจัดการเรียกคืนโดยมิชักช้า

(1)  เมื่อผู้กู้ออกจากสหกรณ์ไม่ว่า  เพราะเหตุใด ๆ

(2)  เมื่อปรากฏแก่คณะกรรมการดำเนินการว่า ผู้กู้นำเงินไปใช้ผิดความมุ่งหมายที่ให้เงินกู้นั้น

(3)  เมื่อคณะกรรมการดำเนินการเห็นว่า หลักประกันสำหรับเงินกู้เกิดบกพร่องและ  ผู้กู้มิได้จัดการแก้ไขภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด

(4)  เมื่อค้างส่งเงินงวดชำระหนี้ (ไม่ว่าต้นเงินหรือดอกเบี้ย) เป็นเวลาสองเดือนติดต่อกันหรือผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ดังว่านั้นถึงสามคราวสำหรับเงินกู้รายหนึ่ง ๆ

     ข้อ 36  หลักประกันสำหรับเงินกู้สามัญถ้าเงินกู้สามัญรายนั้นโดยเฉพาะรายเดียวก็ดี หรือเมื่อรวมกับเงินกู้สามัญรายก่อนของผู้กู้ที่คงเหลืออยู่ (ถ้ามี) ก็ดีมีจำนวนไม่เกินกว่าค่าหุ้นที่ผู้กู้มีอยู่ในสหกรณ์ ก็ไม่ต้องมีหลักประกันอย่างอื่นอีก

     ถ้าเงินกู้สามัญรายนั้น  โดยเฉพาะรายเดียวก็ดีหรือเมื่อรวมกับเงินกู้สามัญรายก่อนของผู้กู้ (ถ้ามี) ก็ดีมีจำนวนเกินกว่าค่าหุ้นซึ่งผู้กู้เงินกู้มีอยู่ในสหกรณ์ ก็ต้องมีหลักประกันอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1)  มีสมาชิกที่มิได้เป็นคู่สมรสของผู้กู้ ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการหรือคณะกรรมการเงินกู้เห็นสมควรอย่างน้อย  2  คน  ค้ำประกันอย่างไม่จำกัดเพื่อหนี้สินเกี่ยวกับเงินกู้สามัญรายนั้นในส่วนที่เกินกว่าค่าหุ้นของผู้กู้แต่ถ้าผู้กู้สามัญรายก่อนเหลืออยู่ด้วยก็ต้องให้ค้ำประกันเพื่อหนี้สินเกี่ยวกับเงินกู้สามัญรายใหม่ทั้งหมด

            เพื่อความมั่นคงในการให้เงินกู้สามัญ  คณะกรรมการดำเนินการ  หรือคณะกรรมการเงินกู้มีอำนาจวินิจฉัยเรียกให้มีผู้ค้ำประกันมากกว่าคนหนึ่งได้
               สมาชิกคนหนึ่งอาจจะเป็นผู้ค้ำประกันสำหรับ­­ผู้กู้มากกว่า  5  คน  ในเวลาเดียวกันไม่ได้และสมาชิกคนหนึ่งจะมีหนี้สินต่อสหกรณ์ในฐานะผู้ค้ำประกันโดยจำนวนต้นเงินรวมกันทั้งหมดเกินกว่า  3,000,000 บาท (สามล้านบาทถ้วน) ไม่ได้

     เมื่อผู้ค้ำประกันคนใดตายหรือออกจากสหกรณ์ไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ หรือมีเหตุที่คณะกรรมการดำเนินการหรือคณะกรรมการเงินกู้เห็นว่าไม่สมควรที่จะเป็นผู้ค้ำประกันต่อไป ผู้กู้ต้องจัดให้สมาชิกอื่นซึ่งคณะกรรมการดำเนินการหรือคณะกรรมการเงินกู้เห็นสมควรเข้าเป็นผู้ค้ำประกันแทนคนเดิมให้เสร็จภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการหรือคณะกรรมการเงินกู้กำหนด
     การให้สมาชิกค้ำประกันออกจากสหกรณ์ไม่ว่าเหตุใดๆ ไม่เป็นเหตุให้ผู้นั้นหลุดพ้นจากการ ค้ำประกันจนกว่าผู้กู้ได้จัดให้สมาชิกอื่นซึ่งคณะกรรมการดำเนินการหรือคณะกรรมการเงินกู้เห็นสมควรเข้าเป็นผู้ค้ำประกันแทน
     อนึ่ง ภายหลังการทำหนังสือค้ำประกันไว้เป็นประกัน คู่สมรสของผู้กู้จะต้องจัดให้มีสมาชิกอื่น ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการ หรือคณะกรรมการเงินกู้เห็นสมควรเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ในส่วนที่เกินกว่าค่าหุ้นของ ผู้กู้โดยเร็วด้วย

              (2)  มีสังหาริมทรัพย์หรือ อสังหาริมทรัพย์อันปลอดจากภาระจำนองรายอื่นจำนองเป็นประกันเต็มจำนวนเงินกู้รายนั้น
     ข้อ 37  การส่งเงินงวดชำระหนี้สำหรับเงินกู้สามัญ
           (1) ให้คณะกรรมการดำเนินการหรือคณะกรรมการเงินกู้พิจารณากำหนดให้ผู้กู้ส่งคืนเงินกู้สามัญเป็นงวดรายเดือนเท่ากันพร้อมด้วยดอกเบี้ย  เป็นจำนวนกี่งวดก็สุดแต่จะเห็นเป็นการสมควรตามฐานะของผู้กู้ จำนวนและความมุ่งหมายแห่งเงินกู้แต่ไม่เกิน  180  งวด  ตั้งแต่เดือนที่คิดดอกเบี้ยเดือนแรก
           (2) กรณีสมาชิกที่เป็นพนักงานจ้างตามภารกิจให้ส่งชำระหนี้ได้ไม่เกิน  20  งวด        ในกรณีที่ผู้กู้มีคำขอเป็นหนังสือ  คณะกรรมการดำเนินการเห็นว่ามีเหตุอันสมควรผ่อนผันเป็นพิเศษ คณะกรรมการดำเนินการจะผ่อนเวลาการส่งเงินงวดชำระหนี้สำหรับเงินกู้สามัญที่กำหนดไว้ตามความในวรรคก่อนนั้น ให้แก่ผู้กู้คราวละหนึ่งหรือหลายเดือนก็ได้  แต่การผ่อนเวลาเช่นนี้รวมกันทั้งหมดสำหรับเงินกู้สามัญรายหนึ่งๆ ต้องไม่เกิน  6  เดือน
     ข้อ 38  ในกรณีที่เงินกู้เป็นอันต้องส่งคืนโดยสิ้นเชิงตามที่กำหนดแล้วใน ข้อ 35 ถ้าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชำระหนี้แทนผู้กู้ และไม่สามารถชำระหนี้นั้นโดยสิ้นเชิงได้ เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอคณะกรรมการดำเนินการอาจผ่อนผันให้เรียกเก็บจากผู้ค้ำประกันเป็นงวดรายเดือน จนเสร็จตามที่  ผู้กู้ได้ทำหนังสือให้ไว้ต่อสหกรณ์ก็ได้ สุดแต่จะพิจารณาเห็นสมควร

    หมวด  5

                          หลักประกันสำหรับเงินกู้พิเศษ

     ข้อ 39  ในการกู้เงินพิเศษนั้น  ผู้กู้ต้องทำหนังสือกู้ให้ไว้ต่อสหกรณ์ตามแบบที่กำหนดถ้าเงินกู้พิเศษนั้น  มีจำนวนเกินกว่าค่าหุ้นซึ่งผู้กู้มีอยู่ในสหกรณ์  ก็ต้องมีหลักประกันอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย

(1)  มีอสังหาริมทรัพย์อันปลอดจากภาระจำนองรายอื่น จำนองเป็นประกันเต็มจำนวนเงินกู้รายนั้น โดยเจ้าพนักงานที่ดินเป็นผู้ประเมิน

(2)  ในส่วนของสิ่งปลูกสร้างให้กรรมการเป็นผู้ประเมิน โดยให้เพิ่มราคาประเมินได้ไม่เกิน  2  เท่า  

(3)  ให้เพิ่มราคาประเมินตาม (1)  ได้อีกไม่เกิน  3  เท่า

(4)  ในการกู้นั้นหลักประกันเงินกู้พิเศษ ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการ      ดำเนินการ  อาจให้มีผู้ค้ำประกันเพิ่มอีก 1 – 2 คน  ตามสมควรแก่มูลหนี้

หมวด  6

                         การส่งคืนเงินกู้พิเศษ

     ข้อ 40  คณะกรรมการดำเนินการจะพิจารณากำหนดให้ผู้กู้เงินกู้พิเศษ ส่งคืนเงินกู้เป็นงวดรายเดือนเท่ากันพร้อมด้วยดอกเบี้ย  เป็นจำนวนกี่งวดก็สุดแต่จะเห็นเป็นการสมควรตามฐานะของผู้กู้และความมุ่งหมายแห่งเงินกู้แต่ไม่เกิน  300  งวด  ตั้งแต่เดือนที่คิดดอกเบี้ยเดือนแรกทั้งนี้โดยไม่มีการผ่อนเวลา

          ข้อ 41  ในกรณีใดๆ ดังกำหนดตามข้อบังคับ ข้อ 42  เงินกู้พิเศษเป็นอันถึงกำหนดส่งคืนโดยสิ้นเชิงพร้อมดอกเบี้ยในทันที  โดยมิพักคำนึงถึงกำหนดเวลาที่ให้ไว้

 

           ประกาศ   ณ  วันที่    30   กันยายน    2565

 

                           ว่าที่ ร้อยโท สมรรถชัย  สมพงษ์

                                    (สมรรถชัย  สมพงษ์)

ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการสกลนคร  จำกัด

 

 

 

 

 

 

  •